วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ตอบข้อโต้แย้งคดีที่ดินรัชดาฯ

ตอบข้อโต้แย้งเรื่องคดีระหว่างอัยการสูงสุด กับ ศาสตราจารย์อาคันตุกะ ดร.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิง พจมาน ชินวัตร 
ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๐ 
     คดีที่ดินรัชดาฯ คือ คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องศาสตราจารย์อาคันตุกะ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐาน "เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ" ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2550 และศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2550 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่า คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (จำเลยที่ 2) พ้นผิด และ ได้คืนเงินที่ยึดทรัพย์มาจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่ สำหรับ ศาสตราจารย์อาคันตุกะ ดร.ทักษิณ ชินวัตร (จำเลยที่ 1) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสิน ให้จำคุก 2 ปี ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2551 ปัจจุบันดดีนี้ได้หมดอายุความไปแล้ว เมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ.2561 คดีนี้ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันมากว่าศาลตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม สำหรับบุคคลที่สนใจการถกเถียงเชิงในวิชาการสามารถดูวีดีโอ ด้านล่างนี้ได้

➽ตอบข้อโต้แย้งเรื่องคดีที่ดินรัชดาฯ โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย นักเศรษฐศาสตร์ และ นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์
อธิบายตามวีดีโอ
→คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ใกล้ศูนย์วัฒนธรรมฯ ทักษิณโกง?

ทักษิณซื้อถูกเกินไปหรือไม่ ทักษิณแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ตนหรือไม่ ทักษิณเปลี่ยนวันที่โอนเพื่อประหยัดภาษีหรือไม่ กฎหมายเอาผิด ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เหมาะสมหรือไม่เพียงใด

กรณีการประมูลซื้อที่ดินข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถนนเทียมร่วมมิตร ซึ่งแยกจากถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สิน การจัดการทรัพย์สินของรัฐ และเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้เขียนในฐานะที่พอมีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ จึงขอแสดงความเห็นเพื่อเป็นข้อมูลต่อสังคม อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก ผู้เขียนขอยืนยันให้เห็นถึงความเป็นกลางของผู้เขียนไว้แต่แรก ว่าไม่เคยทำงาน หรือฝักใฝ่ หรือได้รับผลประโยชน์ทั้งที่ลับและที่แจ้งจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เคยไปร่วมเดินขบวนสนับสนุน ในอนาคตก็ไม่คิดจะรับตำแหน่งลาภยศทางการเมืองจากทักษิณ

→เกี่ยวกับที่ดินรัชดา

ที่ดินแปลงนี้มีขนาด 33 ไร่ 81.8 ตารางวาที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณทรัสต์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 มูลค่า 2,749 ล้านบาท ต่อมาในปี 2544 กองทุนฯ ได้ลดราคาลงเหลือเหลือ 700 กว่าล้านบาท และนำออกประมูลทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ตั้งราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท โดยผู้ร่วมประมูลต้องวางเงินมัดจำ 10 ล้านบาท แต่ไม่มีผู้เสนอราคา กองทุนฯ จึงได้ยกเลิกการประมูล และเปิดประมูลใหม่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ

ผลการประมูล คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งส่งทนายความเป็นตัวแทนเข้าประมูลแทนตนเอง ชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด 772 ล้านบาท โดยมีผู้แข่งขัน 2 ราย คือ บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์ และ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนต์ แต่ต่อมาหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 ได้มีการตั้งข้อหาทุจริตในการประมูลนี้ และสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาตัดสินให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งให้กองทุนฯคืนเงินซื้อขายที่ดินจำนวน จำนวน 772 ล้านบาท พร้อมด้วยค่าเสียหาย ค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างจำนวน 39 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่นัดชำระ {1} และเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ได้มีการจัดประมูลใหม่ บมจ.ศุภาลัย ผู้ชนะการประมูลได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไปในราคา 1,815 ล้านบาท {2}

โดยที่คุณหญิงพจมาน ได้ที่ดินแปลงนี้จากการประมูล ในเบื้องต้นจึงน่าจะถือว่าเป็นโปร่งใส ในการประมูลครั้งแรก ไม่มีผู้ซื้อแม้แต่รายเดียว ส่วนครั้งที่สอง ผู้ประมูลก็ประมูลได้ ณ ราคาสูงสุด ไม่ได้ขายโดยไม่ผ่านการประมูล ยกตัวอย่างเช่น ป.ป.ช. "ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา ร้อยตรี นายกองใหญ่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กับพวก ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล. . .เนื่องจากในการดำเนินการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลดังกล่าว ได้มีการเรียกบริษัทผู้ส่งออกเฉพาะบางราย เข้าไปเสนอราคาซื้อ โดยไม่ปรากฏว่ามีการเปิดประมูล" เป็นต้น {3}

→ทำไมไม่แยกประมูลเป็นชิ้นเล็กๆ

บางท่านให้ข้อสังเกตว่า ทำไมกองทุนฯ ไม่จัดการประมูลโดยตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ สัก 3-4 ชิ้น เพื่อให้สามารถขายได้ราคาสูงขึ้น เท่ากับเป็นการเอื้อเฉพาะรายใหญ่เข้าประมูลหรือไม่ กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการปฏิบัติของทางราชการ จะเห็นได้ว่าในกรณีการประมูลต่าง ๆ ของ ปรส. บสท บสก หรือแม้แต่สถาบันการเงินภาคเอกชน ก็ไม่ได้แบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยเพื่อการขายแต่อย่างใด

หากพิจารณาจากโฉนดที่ดินแปลงนี้ โอกาสที่จะจัดแบ่งเป็นแปลงย่อยคงจะเป็นไปได้ยาก และหากมีการแบ่งแปลงย่อยจริง หรือจัดสรรที่ดินเป็นแปลงขนาดเล็ก ๆ จริง ก็ใช่ว่าจะสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าที่ขายในแปลงใหญ่แต่อย่างใด และในภายหลังที่ดินแปลงนี้ได้นำมาพัฒนาเป็นโครงการอาคารชุดขนาดใหญ่ชื่อ "Wellington" ซึ่งมีห้องชุดขายถึง 1,002 หน่วย ดังภาพท้ายนี้

→ราคาเหมาะสมที่ขายให้เหมาะสมแล้ว

ในการวิเคราะห์ว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร โกงหรือไม่ ประเด็นสำคัญควรอยู่ที่ราคาที่ประมูลมามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ประเมินราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 ถึงปัจจุบัน สามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้ตามตารางท้ายนี้:

1. ราคาที่ดินที่กองทุนซื้อที่ดินแปลงนี้มาในราคา 2,749 ล้านบาทในปี พ.ศ.2538 นั้น นับว่าสูงเกินความเป็นจริง กล่าวคือ เป็นเงินถึงตารางละ 206,975 บาท ในขณะที่ราคาที่ดินที่อยู่ติดถนนใหญ่รัชดาภิเษก มีมูลค่าเพียง 160,000 บาท ทั้งนี้เพราะรถไฟฟ้า

2. เมื่อขายในปี พ.ศ.2546 ณ ราคาตารางวาละ 58,125 บาท ต่ำกว่าราคาที่ดินที่ถนนรัชดาภิเษกที่ 150,000 บาท และราคาที่ดินที่ถนนพระรามที่ 9 ที่ 90,000 บาท ทั้งนี้เพราะในห้วงปีนั้น รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ยังไม่มี ราคาที่ดินที่ประมูลจึงควรต่ำกว่าราคาที่ดินที่ถนนพระรามที่ 9 และโดยที่เป็นที่ดินแปลงใหญ่กว่าถึง 1 เท่าตัว ผู้เขียนในฐานะผู้ประเมินจึงมีความเห็นว่าควรคิดลด 15% และในกรณีที่เป็นการประมูล ซึ่งมักต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 20% ดังนั้น ราคาที่ดินแปลงประมูลจึงควรเป็นเงินตารางวาละ 61,200 บาท หรือสูงกว่าราคาที่ประมูลได้อยู่เล็กน้อย จึงอาจกล่าวได้ว่าราคาที่ประมูลนั้นเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ในปี พ.ศ.2546 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

หมายเหตุ:

ที่ดินรัชดาภิเษก หมายถึงแปลงสมมติบริเวณอาคารทศพลแลนด์ หากมีขนาด 16 ไร่ในสมมติฐานที่เป็นที่ดินเปล่า

ที่ดินพระรามที่ 9 หมายถึงแปลงสมมติบริเวณอาคารเคพีเอ็น หากมีขนาด 16 ไร่ในสมมติฐานที่เป็ฯที่ดินเปล่า

ที่ดินที่ประมูล มีขนาด 33 ไร่ 81.8 ตารางวา

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส. 

การประเมินราคาที่ดินต่อเนื่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2537-ปัจจุบัน

3. หลังจากการเปิดใช้รถไฟฟ้าแล้วในปี พ.ศ.2547 ราคาที่ดินบนถนนรัชดาภิเษก เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ราคาที่ดินที่ถนนพระรามที่ 9 เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เพราะไม่มีบริการรถไฟฟ้า ถ้าราคาที่ดินแปลงประมูลที่ตารางวาละ 58,125 บาท มีอัตราการเพิ่มเช่นเดียวกับที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน ราคาก็น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 120,125 บาท หรือ ต่ำกว่าราคาที่ประมูลโดย บมจ.ศุภาลัย ณ 136,653 บาท อยู่ 12% ซึ่งก็ต่างกันไม่มากนัก แสดงว่าการนำมาประมูลใหม่ใน พ.ศ.2546 ก็ไม่ได้ทำให้รัฐเกิดรายได้เพิ่มขึ้นนัก

ดังนั้นหากพิจารณาจากราคา จะพบว่า ราคาที่ประมูลไป ณ พ.ศ.2546 เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว สำหรับกรณีที่อาจจะมีการ "ฮั้ว" กันหรือไม่ ข้อนี้ไม่อาจพิสูจน์ได้ในกรณีของ บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์ แต่ล่าสุด ประธาน บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ก็มีท่าทีตรงข้ามกับรัฐบาลอย่างชัดเจน {4} กรณีการฮั้วจึงไม่อาจนำมาอ้างอิงได้

→ราคาทางราชการไม่ได้สูงกว่าราคาตลาด

มีบางท่านอ้างว่า ราคาประเมินของทางราชการโดยกรมธนารักษ์ที่ติดถนนรัชดาภิเษกสูงถึงตารางวาละ 200,000 บาท ในการประเมินช่วงปี พ.ศ.2543-2546 กรณีนี้คงเป็นความเข้าใจผิด เพราะนำที่ดินแปลงเล็ก ๆ เช่น ตึกแถวมาคำนวณ แต่กรณีที่ดินแปลงขนาดใหญ่นี้ ราคาประเมินทางราชการย่อมต่ำกว่านี้มาก เช่น กรณีแปลงที่ดินที่อยู่ติดถนนเทียมร่วมมิตรขนาด 1 ไร่ มีราคาประเมินทางราชการเพียง 90,000 บาท ณ รอบปี พ.ศ.2555-2558 ส่วนที่ดินแปลงที่ บมจ.ศุภาลัย ได้นำโฉนดที่ดินบางส่วนมารวมกันเพื่อสร้างโครงการอาคารชุดชื่อ "Wellington" นั้น มีขนาด 19 ไร่ 3 งาน 67.4 ตารางวา มีราคาประเมินทางราชการเพียง 67,500 บาทเท่านั้น

ดังนั้นราคาประเมินทางราชการที่ติดถนนรัชดาภิเษก ในปี พ.ศ.2546 ซึ่งจัดทำมาใช้ในช่วงปี พ.ศ.2543-2546 หรือเป็นการจัดทำมาก่อนปี พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีดนั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะสูงกว่าราคาที่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ประเมินไว้ ณ ราคา 150,000 บาท อย่างแน่นอน การอ้างอิงราคารายแปลงขนาดเล็ก ๆ จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีนี้

→ไม่ได้แก้กฎหมายการใช้ที่ดินเอื้อประโยชน์

มีข่าวร่ำลือว่า หลังจากที่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ประมูลที่ดินดังกล่าวไปแล้ว ทักษิณก็ใช้อำนาจทางการเมืองแก้ไขข้อกฎหมาย อนุญาตให้ที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถก่อสร้างสูงได้ ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น ความจริงปรากฏว่าไม่เคยมีการข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว การแก้ไขมีหลังจากเป็นคดีความแล้วเพราะรัฐบาล “จีนทุ่มงบสร้างศูนย์วัฒนธรรมในไทย” มูลค่า 1,200 ล้านหยวนหรือ 5,600 ล้านบาทข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย {5} แต่กลับไม่สามารถสร้างได้เพราะติดข้อกฎหมายนี้ แต่ในที่สุดได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้แก้ไขเพื่อการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมจีน ซึ่งมีอาคารหอประชุม พื้นที่ 2,800 ตามรางเมตร สูง 12.55 เมตร 2 อาคาร และอาคารอื่น ๆ

ดังนั้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท บริเวณโดยรอบศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในท้องที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่...) พ.ศ... แก่สภากรุงเทพมหานคร สภาฯ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณา โดยไม่กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา {6}

ดังนั้นข่าวเรื่อง ดร.ทักษิณ ชินวัตร สั่งแก้ข้อกฎหมายการควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับครอบครัว จึงไม่เป็นความจริง ยิ่งกว่านั้นทักษิณประมูลที่แปลงนี้ไปเพื่อสร้างบ้าน (จะเห็นได้ว่ากองทุนต้องจ่ายค่าออกแบบบ้านให้ทักษิณถึง 39 ล้านบาท) กรณีนี้เป็นข้ออุทาหรณ์ให้ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงวิชาการอสังหาริมทรัพย์ได้ทราบไว้ เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีครูบาอาจารย์หลายท่านสอนนักศึกษาไปในทำนองวาทักษิณโกง ผู้ที่ไม่ได้ตรวจสอบก็เชื่อตามๆ กันไปแบบผิดๆ

→ไม่มีการยืดวันโอนเพื่อฉ้อฉล

มีการกล่าวอ้างว่า กรมที่ดินจดทะเบียนโอนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2546 เพื่อเอื้อให้ที่ดินแปลงนี้สามารถโอนโดยเสียภาษีและค่าธรรมเนียมโอนตามอัตราเดิมที่ใช้ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2542 - 31 ธันวาคม พ.ศ.2546 เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับโอน เพราะราคาประเมินใหม่จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2547 เป็นบัญชีใหม่ ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าเดิม ทำให้ผู้รับโอนต้องเสียภาษีมากขึ้นนั้น ความข้อนี้ไม่เป็นความจริง ที่ดินแปลงนี้โอนในวันอังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2546

อย่างไรก็ตามเป็นปกติของการโอนที่ดินทั้งหลายในทุกรอบ 4 ปีที่มีการปรับราคาใหม่ ผู้จะซื้อจะขายรวมทั้งผู้รับจำนอง จะมาจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนวันกำหนดเส้นตายเสมอเพื่อเลี่ยงที่จะเสียภาษีตามอัตราใหม่ เช่น กรณีการจะเริ่มประกาศใช้ราคาประเมินทางราชการรอบใหม่ พ.ศ.2551-2554 ก็ให้กำหนดโอนโดยใช้ราคาประเมินเดิมที่เสียภาษีน้อยกว่าได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2550 เช่นกัน หรือกรณีเปลี่ยนราคาประเมินจาก 1 มกราคม เป็น 1 กรกฎาคม พ.ศ.2555 ทางราชการก็ "พร้อมรับมือคลื่นมหาชน เปิด (บริการโอน ณ สำนักงานที่ดิน) ถึงมิดไนต์ยันเช้า" ได้เช่นกัน และกรมที่ดินเปิดให้บริการถึงวันสุดท้าย วันเสาร์ 30 มิถุนายน 2555 {7} อาจกล่าวได้ว่าการโอนจนถึงวันสุดท้ายเกินเวลาราชการ จึงเป็นสิ่งปกติที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้นับสิบๆ ปีแล้ว ไม่ได้การฉ้อฉลเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด

→ข้อน่าสงสัยในด้านกฎหมาย

เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีมติ 5 ต่อ 4 พิพากษาว่า "จำเลยที่ 1 (ดร.ทักษิณ ชินวัตร) มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 (คุณหญิงพจมาน ชินวัตร)" {8}

สำหรับ มาตรา 100 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการ ในวรรคสามคือ "รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว" จึงถูกลงโทษตามมาตรา 122 คือ "เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 มาตรา 101 หรือมาตรา 103 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" {9}

ความตามข้อกฎหมายนี้คงอยู่ที่การตีความ แต่ผู้เขียนไม่ใช่นักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรณีประมูลซื้อนี้ไม่ใช่การ "ผูกขาดตัดตอน" ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และตามสามัญสำนึกถึงความผิดชอบชั่วดีทั่วไป การที่ผู้ประมูลๆ อย่างเปิดเผยด้วยตนเอง ไม่ได้ปกปิดด้วยตัวแทนอย่างฉ้อฉล น่าจะแสดงเจตนาบริสุทธิ์ ยิ่งกว่านั้น การทุจริตควรหมายถึง การซื้อในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ในกรณีไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบ เพราะประมูลโดยมีการแข่งขันและได้ราคาสูงสุด อัยการไม่สามารถฟ้องร้องได้ว่าซื้อต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด

ในกรณีนี้อาจถือเป็นในแง่กฎหมายมากกว่า ซึ่ง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสวนสวนคดีพิเศษ ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "ตนขอยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดา ซึ่งไม่ใช่คดีทุจริต แต่เป็นคดีที่เอาผิดกันทางด้านเทคนิคกฎหมายว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภรรยาไปซื้อที่ดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงตั้งประเด็นการร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่ทุจริต จึงไม่มีประเด็นใดทุจริต" {10}

บทสรุป

โดยสรุปแล้ว ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงไม่ได้โกงในการชนะการประมูลซื้อที่ดินใกล้ศูนย์วัฒนธรรมฯ ขนาด 33 ไร่ 81.8 ตารางวาที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เปิดประมูลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2546 เพราะราคาที่ประมูลได้ไม่ต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นมากนัก ส่วนกรณีที่อาจจะมีการ "ฮั้ว" กันหรือไม่ ข้อนี้ไม่อาจพิสูจน์ บริษัทคู่แข่งในปัจจุบันก็มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างจากทักษิณ

นอกจากนี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้สั่งแก้ข้อกฎหมายการควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง รวมทั้งในกรณีการสั่งให้มีการโอนถึงวันปฏิทินสิ้นปี ก็ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการโอนที่ดินแปลงนี้ เพราะมีการโอนในวันราชการ (อังคารที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2546) ส่วนในกรณีของความผิดตามข้อกฎหมาย อาจโต้แย้งได้ว่าผู้ซื้อไม่ได้มุ่ง "ผูกขาดตัดตอน" ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และทักษิณก็เข้าประมูลอย่างเปิดเผยและชนะการแข่งขันประมูลในราคาสูงสุด

ข้อผิดสังเกตุในคดีที่ดินรัชดาฯ จาก สถานีโทรทัศน์เอเชียอัปเดต (ทีวี 24ในปัจจุบัน)

แผนที่ที่ดินรัชดาฯ


ผู้จัดทำขอขอบพระคุณ
ที่ให้ความรู้ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับคดีนี้

ดูเพิ่ม



ตอบข้อโต้แย้งคดีที่ดินรัชดาฯ

Home  >  ตอบข้อโต้แย้งคดี   > สื่อฝั่งเดียวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ตอบข้อโต้แย้งเรื่อง คดีระหว่างอัยการสูงสุด...